การอยากมีเว็บไซต์ของตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่แปลกเลยในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายมาก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ภาครัฐหรือเอกชน เพราะการมีเว็บไซต์ของตนเองจะทำให้องค์กรดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งยังมีข้อมูลอยู่บนอินเทอร์เน็ตเป็นหลักเป็นแหล่ง อีกทั้งการเอาแต่พึ่งพาโซเชียลมีเดียอื่นๆ หรือเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ของตนเอง อาจเกิดปัญหาใหญ่ได้หากโซเชียลมีเดียนั้นมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การจำกัดสิทธิเข้าถึงการใช้งานบางอย่าง การเก็บเงินผู้ใช้งาน เป็นต้น รวมถึงถ้าถูกระงับการใช้งาน โซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์นั้นปิดตัว ผู้ติดตามหรือฐานลูกค้าของเราก็จะหายไปด้วยและก่อความยุ่งยากให้อย่างมาก
ดังนั้น การมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองจึงจำเป็นอย่างมาก และปัจจุบันการทำเว็บไซต์ก็ไม่ได้ยากเพราะมีตัวช่วยหลายอย่าง ทำให้สามารถทำได้เองง่ายๆ หรือถ้าต้องการจ้างทำก็มีตัวเลือกที่ทำให้ได้ราคาถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก ในบทความนี้เราได้สรุปสิ่งที่ควรรู้สำหรับคนที่อยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองมาให้แล้ว ตั้งแต่ควรจะเริ่มต้นทำเว็บไซต์จากตรงไหน ทำเองหรือจ้างใครดี ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ส่วนประกอบที่สำคัญของเว็บไซต์ ตลอดจนหาคนเข้าเว็บไซต์หลังทำเสร็จ
ข้อควรรู้สำหรับคนที่อยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
1. จุดประสงค์ของการมีเว็บไซต์
เราควรกำหนดจุดประสงค์หรือตั้งเป้าหมายว่าเราอยากมีเว็บไซต์ไว้ทำอะไร คนที่จะเข้ามาใช้งานเป็นใคร เพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบและกำหนดแนวทางการออกแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่น
• เพื่อบันทึกเรื่องราว หรือนำเสนอบทความข่าวสาร
ปัจจุบันการเขียนบล็อกกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก รวมถึงเว็บไซต์สไตล์นิตยสารที่มีการแบ่งหมวดหมู่เพื่ออัพเดทบทความและข่าวสาร ระบบของเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกในการเขียนและการโพสบทความได้อย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยากจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
• เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูล
บริษัทหรือองค์กรที่อยากมีเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าและคนทั่วไปเข้ามาดูข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็สามารถเลือกใช้งานเว็บไซต์ที่ไม่ซับซ้อน เพียงมีหน้าเว็บที่บอกรายละเอียดของบริการหรือสินค้า และระบบที่ช่วยให้อัพเดทข้อมูลข่าวสาร โปรโมทสินค้า โปรโมชั่น ผ่านทางเว็บไซต์ได้สะดวก
• เพื่อเป็นหน้าร้านออนไลน์
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สะดวกในการมีหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง เพราะต้นทุนที่สูงและต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการ การสร้างเว็บไซต์จะเป็นหน้าร้านออนไลน์ที่สามารถรวบรวมรายการสินค้า และมีระบบอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบหมวดหมู่และใส่รายละเอียดข้อมูลสินค้า ในการสั่งซื้ออาจให้สั่งผ่านอีเมลล์ หรือช่องทางแช็ททางโซเชียลมีเดียแทน
• เพื่อเป็นช่องทางการขายสินค้า
ในการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ สามารถเพิ่มฟังก์ชั่นตะกร้าสินค้า เพื่อให้ลูกค้าเลือกรายการสินค้า สั่งซื้อและชำระเงินได้เลย สร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มาก ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายในการทำเว็บไซต์เพิ่มมา
2. สามารถทำเว็บไซต์ได้เองหรือจ้างทำก็ได้
ผู้ที่อยากมีเว็บไซต์ของตัวเอง สามารถทำเว็บไซต์ได้เองหรือจ้างทำก็ได้ เพราะทั้งสองแบบมีทางเลือกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าต้องการเว็บไซต์แบบไหน เช่น เว็บบล็อคบันทึกเรื่องราว เว็บไซต์ขายของออนไลน์ สามารถทำได้เองไม่ยาก ขณะที่เว็บไซต์ขนาดใหญ่สำหรับองค์กรที่มีผู้เข้าใช้งานจำนวนมากและต้องการความปลอดภัยของข้อมูล อาจต้องจ้างทำเพราะจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำหรือความเป็นมืออาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ
2.1 การทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง
ในปัจจุบันการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเองสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมีข้อมูลให้ศึกษามากมายบนอินเทอร์เน็ต และการทำเว็บไซต์ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเองทั้งหมด เพราะมีบริการเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ของตัวเองหลากหลายแบบ เช่น
• ใช้บริการบล็อกฟรี อย่าง Blogger.com
Blogger.com เป็นสิ่งที่เรารู้จักกันมานาน เหมาะสำหรับการบันทึกเรื่องราวต่างๆ เช่น การเขียนไดอารี่ การรีวิวต่างๆ มีข้อดีคือใช้งานง่าย ฟรี มีเทมเพลตหรือรูปแบบหน้าบล็อกให้เลือกมากมาย ตกแต่งพื้นหลังได้ตามใจชอบ สามารถได้รับโดเมนฟรีอย่าง blogspot.com หรือซื้อโดเมนที่เป็นชื่อกำหนดเองได้ง่ายๆ
ที่สำคัญการใช้บล็อกยังสร้างรายได้ได้ผ่านโฆษณาที่ปรากฏภายในบล็อกโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบล็อกของเรา และสามารถตรวจสอบได้ว่าเนื้อหาไหนที่มีผู้ชมมากด้วยเครื่องมือ Google Analytics ส่วนข้อจำกัดของบล็อกคือ เทมเพลตยังมีน้อย และปรับเปลี่ยนส่วนต่างๆ ได้น้อยกว่าเว็บไซต์ที่สร้างเองหรือเว็บไซต์สำเร็จรูป
• ใช้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปหรือเว็บร้านค้าออนไลน์
เว็บไซต์สำเร็จรูปหรือเว็บร้านค้าออนไลน์ เป็นที่นิยมโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการมีร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง เพราะใช้งานง่าย ปรับแต่งเว็บไซต์ได้ง่ายด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานในการศึกษา เพราะมีการไกด์ใช้งานระหว่างการตั้งค่าเว็บไซต์อยู่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เลือกเว็บขายของออนไลน์แบบไหนดี?)
ข้อดีของเว็บไซต์สำเร็จรูปคือสามารถปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้สวยงามเหมาะกับร้านเราได้ตามต้องการ ซึ่งมีเทมเพลตให้เลือกปรับแต่งทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย หรืออาจมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปี ส่วนข้อจำกัดของเว็บไซต์สำเร็จรูปคือ อาจจะปรับแต่ง เพิ่มลดฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ยาก ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการและการใช้เว็บไซต์สำเร็จรูป
• ใช้ระบบช่วยสร้างเว็บไซต์อย่าง WordPress
WordPress คือโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการจัดการเว็บไซต์ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน จุดเด่นอีกอย่างคือมีระบบจัดการบทความหรือระบบหลังบ้าน (Dashboard) ทำให้ง่ายต่อการจัดการ ใช้งานง่าย มีเทมเพลตให้เลือกหลากหลายและมี Plugins หรือโปรแกรมเสริมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เว็บไซต์ให้เลือกมากมาย เช่น ระบบจัดการสินค้า (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ WordPress คืออะไร? ทำไมจึงได้รับความนิยมในการใช้ทำเว็บไซต์)
ข้อดีข้อเสียของการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง
ข้อดี
• ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างทำและดูแลเว็บไซต์
• สามารถปรับแต่งเว็บไซต์หรืออัพเดทเพิ่มเติมข้อมูลได้ตามต้องการ ไม่ต้องเสียเวลารอและกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมา
ข้อเสีย
• เมื่อไม่ได้จ้างทำ ก็ไม่มีคนให้คำแนะนำว่าควรทำเว็บไซต์ออกมาเป็นอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ต้องศึกษาและลองผิดลองถูกในส่วนนี้ด้วยตัวเอง
• การใช้เทมเพลตสำเร็จรูป จะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าการเขียนโค้ดทำเว็บไซต์ขึ้นใหม่
• อาจเจอปัญหาในการสร้างและปรับแก้เว็บไซต์ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ จำเป็นต้องปรึกษาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
2.2 การจ้างทำเว็บไซต์
การจ้างทำเว็บไซต์ สามารถจ้างได้ทั้งบริษัทที่รับทำเว็บไซต์โดยตรง เอเจนซี่ และฟรีแลนซ์ ซึ่งแต่ละแบบก็มีจุดเด่น ข้อจำกัด และงบประมาณที่แตกต่างกันไป
• จ้างฟรีแลนซ์
ฟรีแลนซ์ที่มากประสบการณ์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพียงแต่ต้องตรวจสอบผลงาน และความรับผิดชอบของฟรีแลนซ์ให้ดี โดยอาจสอบถามจากลูกค้าคนก่อนๆ ก็ได้ว่าฟรีแลนซ์คนนี้มีความเป็นมืออาชีพไหม ส่งงานตรงเวลาหรือไม่ เป็นต้น ฟรีแลนซ์มักทำเว็บไซต์โดยใช้ WordPress เพราะใช้งานง่าย แต่ก็มีฟรีแลนซ์ที่ทำเว็บไซต์แบบเขียนโค้ดขึ้นเองเช่นกัน ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปค่าใช้จ่ายของการจ้างฟรีแลนซ์ อยู่ที่ 10,000 – 50,000 บาทขึ้นไป
• จ้างบริษัทรับทำเว็บไซต์
บริษัทรับทำเว็บไซต์ จะมีความเชี่ยวชาญสูง มีทีมงานตั้งแต่ ฝ่ายดูแลลูกค้า ฝ่ายการตลาด โปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ ทำให้การติดต่อประสานงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพสูง การทำเว็บไซต์ของบริษัทรับทำเว็บไซต์จะมี 2 แบบ คือ
1. แบบมี Template ให้เลือก โดยเป็น Template ที่บริษัทออกแบบไว้อยู่แล้ว ลูกค้าสามารถเลือกแบบได้ และนำมาปรับแต่งเล็กน้อยให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า ซึ่งแบบนี้จะมีราคาถูกกว่า
2. แบบ Custom Design โดยเป็นการออกแบบใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะได้ดีไซน์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด แต่ก็มีราคาสูงตามมาด้วยค่าใช้จ่ายของการจ้างบริษัททำเว็บไซต์ อยู่ที่ 50,000 – 250,000 บาทขึ้นไป
• จ้างเอเจนซี่
เอเจนซี่เป็นบริษัทที่เน้นการทำเว็บไซต์ให้เข้ากับการตลาดออนไลน์ด้วย เอเจนซี่จะมีทีมงานหลายฝ่ายคล้ายๆ กับบริษัทรับทำเว็บไซต์ แต่จะมีฝ่ายเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ที่เป็นฝ่ายสำคัญด้วย การทำเว็บไซต์ของเอเจนซี่จึงเป็นการพัฒนาเว็บไซต์เองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกแผนงานที่เหมาะกับงบประมาณของลูกค้า การทำเว็บไซต์ให้ดีไซน์สวยงามโดยคำนึงถึงเนื้อหา (Content) และประสบการณ์ของผู้ใช้เว็บไซต์ (User Experience) ด้วย ซึ่งลูกค้าที่เลือกจ้างทำเว็บไซต์กับเอเจนซี่จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเว็บไซต์มากกว่าการจ้างทำกับบริษัทรับทำเว็บไซต์หรือฟรีแลนซ์ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วยค่าใช้จ่ายของการจ้างเอเจนซี่ อยู่ที่ 250,000 – 5,000,000 บาทขึ้นไป
ข้อดีข้อเสียของการจ้างทำเว็บไซต์
ข้อดี
• การทำเว็บไซต์อยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาและทำเอง
• มีคนสอนหรือมีคู่มือการใช้งาน เมื่อได้รับเว็บไซต์มาแล้ว ยังสามารถแก้ไขเว็บไซต์ได้เองหากมีการทำระบบไว้ให้
ข้อเสีย
• ค่าใช้จ่ายสูง และหากจะให้บริษัทหรือเอเจนซี่ปรับแก้หรืออัพเดทข้อมูลให้ก็อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
• หากจ้างผู้ให้บริการไม่ดี อาจทิ้งงาน ตามตัวไม่ได้ ไม่ยอมดูแลรับผิดชอบต่อ
3. ส่วนประกอบที่สำคัญของเว็บไซต์ที่ควรรู้
การสร้างเว็บไซต์ของตัวเอง ต้องรู้จักส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ของเว็บไซต์เอาไว้ด้วย เพื่อจะได้รู้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือเพื่อให้คุยกับคนทำเว็บไซต์ได้เข้าใจ
3.1 Domain
Domain หรือ โดเมน คือชื่อเว็บไซต์ของเรา ใช้แทน IP Address ที่เป็นตัวเลขและจดจำยาก ยกตัวอย่างโดเมน เช่น abcdef.com ซึ่งการตั้งชื่อโดเมนควรบ่งบอกถึงเนื้อหาของเว็บไซต์และจดจำง่าย ซึ่งการจดโดเมนมีค่าใช้จ่ายเป็นรายปี แต่ละสกุลโดเมนก็ราคาแตกต่างกันไป เช่น .com ราคาจะราว 300-400 บาทต่อปี และมีค่าต่ออายุทุกปี
3.2 Hosting
Hosting หรือ โฮสติ้ง คือ ผู้ให้บริการพื้นที่เซิฟเวอร์สำหรับฝากเว็บไซต์ โดยเซิฟเวอร์จะแสดงผลเว็บไซต์ให้ออนไลน์อยู่บนอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง โฮสติ้งมีทั้งหมด 4 ประเภท
• Shared Host เป็นเซิฟเวอร์ที่แชร์กันหลายผู้ใช้งาน เหมาะกับเว็บไซต์ธรรมดาทั่วไป ไปถึงเว็บไซต์ส่วนตัวขององค์กร ราคาประมาณ 800-3,000 บาทต่อปี
• VPS ย่อมาจาก Virtual Private Server เป็นเซิฟเวอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นเสริมได้ ราคามีตั้งแต่ 200-800 บาท สามารถแบ่งจ่ายเป็นราย 3 เดือน, 6 เดือน, 1ปี หรือมากกว่านั้นก็ได้
• Dedicated Server เป็นเซิฟเวอร์เพียงเซิฟเวอร์เดียวสำหรับเรา โดยอาจใช้ฝากหลายเว็บไซต์ที่เราดูแล หรือจะแบ่งพื้นที่ขายเป็นบริการ Shared Hosting ก็ได้ Dedicated เหมาะกับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ที่ต้องการความเสถียรและปลอดภัยมาก เช่นเว็บไซต์ขององค์กรขนาดใหญ่ ราคามีตั้งแต่ 3,000 – 10,000 บาทต่อเดือน
• Cloud Hosting เป็นการใช้เซิฟเวอร์หลายเครื่องซึ่งทำงานพร้อมกัน เมื่อเซิฟเวอร์ใดมีปัญหา ก็จะย้ายไปยังเครื่องใหม่ เว็บไซต์จึงไม่ล่ม เหมาะกับเว็บไซต์ที่ต้องการความเสถียรสูง
ผู้ที่ทำเว็บไซต์ด้วยตนเอง จำเป็นต้องใช้บริการ Hosting แต่ถ้าใช้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปหรือร้านค้าออนไลน์ก็อาจไม่มีค่าบริการโฮสติ้ง แต่จะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีแทน
3.3 SSL (https:)
SSL ย่อมาจาก Secure Socket Layer คือเทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัยในการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตโดยการเข้ารหัส สังเกตได้ง่ายๆ จากเว็บไซต์ธนาคารต่างๆ ว่า URL จะเป็น HTTPS ไม่ใช่ HTTP ที่อาจถูกดักขโมยข้อมูลได้ ส่วนค่าบริการ SSL จะแตกต่างกันไปตามระดับ ถ้าระดับเว็บไซต์ทั่วไปที่มีข้อมูลบุคคล มีราคาราว 1,000 บาทต่อปี ถ้าระดับองค์กรจะมีราคาราว 10,000 – 20,000 บาทต่อปี
3.4 HTML
HTML ย่อมาจาก Hypertext Markup Language คือภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้เขียนในเว็บไซต์ ซึ่ง Hypertext หมายถึงข้อความที่เชื่อมต่อกันผ่านลิงค์ สามารถทำโดยใช้โปรแกรม Text Editor ต่างๆ เช่น Notepad หรือโปรแกรมสำหรับสร้างเว็บไซต์ สามารถทดสอบการทำงานของ HTML ได้ผ่านเบราเซอร์ต่างๆ อย่าง Chrome
3.5 CSS
CSS ย่อมาจาก Cascading Style Sheet คือภาษาที่ใช้จัดรูปแบบแสดงผลของเอกสาร HTML หรือใช้ตกแต่งให้มีหน้าตาสวยงามขึ้น ทั้งสีสัน ระยะห่าง พื้นหลัง เส้นขอบ ประเภทตัวอักษร และอื่นๆ ซึ่งการแยกเอกสาร HTML และ CSS ออกจากกัน จะทำให้ง่ายต่อการจัดรูปแบบการแสดงผลนั่นเอง
3.6 CMS
CMS ย่อมาจาก Content Management System เป็นระบบที่ช่วยในการจัดการบริหารเว็บไซต์แบบสำเร็จรูป โดยตัว CMS จะช่วยให้เราสร้างและแก้ไขเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ด และที่นิยมคือตะกร้าสินค้าสำหรับทำเว็บไซต์ขายของออนไลน์ เป็นต้น เป็นระบบที่ต้องมีเพื่อให้การจัดการต่างๆ ภายในเว็บไซต์รวมถึงการอัพเดตข้อมูลเป็นไปได้ง่าย และในเมื่อจัดการและอัพเดตได้เองก็ไม่จำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้
3.7 UX & UI
UX ย่อมาจาก User Experience คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน เป็นส่วนที่ออกแบบให้ผู้ใช้รู้สึกพึงพอใจ เช่น ใช้งานง่าย มีลำดับขั้นตอนชัดเจน รู้ว่าเมื่อคลิกตรงนี้แล้วจะไปที่หน้าไหนต่อ เป็นต้น ถ้าเว็บไซต์มี UX ที่ไม่ดีก็จะทำให้ผู้ใช้ไม่อยากกลับมาใช้งานอีก
UI ย่อมาจาก User Interface เป็นส่วนที่ทำให้ UX มีความสวยงาม เช่น เรื่องการแสดงผลบนเว็บไซต์ที่ดูสวยงาม ตัวอักษรชัดเจน โดดเด่น ช่องว่างระหว่างปุ่มต่างๆ ไม่แออัดจนเกินไป
3.8 Content
Content หรือ เนื้อหาของเว็บไซต์ ทั้งรูปภาพและบทความ เป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเว็บไซต์โปรโมทแบรนด์ เว็บไซต์ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ ล้วนต้องมีข้อมูลให้ครบถ้วน รายละเอียดอ่านเข้าใจง่าย มีรูปภาพประกอบที่ชัดเจนสวยงามดูน่าใช้งาน ยิ่งถ้าทำให้ Content ภายในเว็บไซต์มีเนื้อหาที่เป็นสาระความรู้ อ่านสนุก น่าติดตาม มีการอัพเดตเนื้อหาอยู่เสมอ ก็จะทำให้ยอดผู้เข้าชมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ SEO ดี และเว็บไซต์จะติดอันดับแรกๆ ของ Search Engine ได้ง่ายขึ้น
3.9 Call-to-Action
Call-to-Action คือ ปุ่ม แบนเนอร์ รูปภาพ หรือตัวอักษร ที่ช่วยทำให้คนเข้าชมเว็บไซต์เกิดปฏิกิริยาบางอย่างที่เราต้องการ เช่น จองหรือสั่งซื้อสินค้า คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สมัครสมาชิก เป็นต้น ซึ่ง Call-to-Action ต้องมีสีสันหรืออยู่ในตำแหน่งที่ชัดเจน มองเห็นได้ง่าย คำตัวอย่างเช่น Book Now / จองเลย, Shop Now / ซื้อเลย, Learn More / ศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น
4. เมื่อมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองแล้วก็ต้องหาคนเข้ามาชม
เมื่อเราสร้างเว็บไซต์ที่สมบูรณ์ตรงความต้องการ ใช้งานง่าย โหลดเร็ว มีสเถียรภาพ มีความปลอดภัย เนื้อหาครบถ้วนได้แล้ว แต่ถ้าไม่มีคนเข้าใช้งานหรือที่เรียกว่า Website Traffic (ข้อมูลเพิ่มเติม: Website Traffic คืออะไร?) เว็บไซต์นั้นก็สูญเปล่า ดังนั้นเราต้องโปรโมทเว็บไซต์ของเราด้วย ซึ่งการโปรโมทหรือดึงดูดคนเข้าเว็บไซต์ก็มีหลายช่องทาง ที่แนะนำก็มีดังนี้
4.1 SEO (Search Engine Optimization)
SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimization คือการปรับแต่งเว็บไซต์ทั้งด้านเนื้อหาและโครงสร้าง ให้สามารถติดอันดับต้นๆ ของหน้าแสดงผลการค้นหาใน Search Engine ซึ่งคนไทยและหลายประเทศทั่วโลกนิยมใช้ Search Engine อย่าง Google ในการหาข้อมูล ถ้าเราปรับแต่งเว็บไซต์ให้ครอบคลุมส่วนต่างๆ เช่น คุณภาพเนื้อหา จำนวนหน้าภายในเว็บไซต์, Page Speed, Mobile Friendly เป็นต้น เว็บไซต์ก็จะมีคะแนน SEO ที่ดี แสดงผลเป็นอันดับแรกๆ ของการค้นหาใน Google เป็นส่วนช่วยเพิ่มคนเข้าชมเว็บไซต์อย่างมาก (ข้อมูลเพิ่มเติม: วิธีการทำ SEO)
ข้อดีของการทำ SEO
• เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่จะคลิกเข้าเว็บไซต์ที่อยู่ในหน้าแรกของ Google และมีโอกาสเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น
• เว็บไซต์ดูน่าเชื่อถือขึ้นเพราะติดอันดับแรกๆ ของการค้นหา คนที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์มาก่อนก็จะรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น
• ไม่เสียค่าคลิกเมื่อมีคนเข้าชมเว็บไซต์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวหากสามารถทำ SEO ได้ด้วยตัวเอง (ข้อมูลเพิ่มเติม: ทำ SEO ด้วยตัวเองจะทำได้อย่างไร?)
4.2 Google Ads (Google AdWords)
Google Ads หรือเดิมเรียกว่า Google AdWords เป็นบริการโฆษณาออนไลน์จาก Google มี 2 ช่องทางหลักคือ
1. Search Network หรือที่เรียกว่า SEM (Search Engine Marketing) หรือ Pay Per Click
เป็นโฆษณาที่ปรากฏผลลัพธ์บน Search Engine ของ Google โดยจะปรากฏเมื่อมีคนค้นหาด้วย Keyword ตรงกับที่กำหนดในโฆษณา มีลักษณะคล้ายผลลัพธ์แบบ Organic Search หรือเว็บไซต์ที่มีคะแนน SEO ดีจนติดอันดับแรกๆ ของการค้นหา เพียงแต่จะมีคำว่า Ad ติดอยู่ด้วยทำให้ทราบได้ว่าคือ Google Ads โดยค่าโฆษณาจะคิดตามยอดคลิกที่เกิดขึ้นจริง และราคาแต่ละยอดคลิกก็ขึ้นอยู่กับการแข่งขันของ Keyword (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ PPC (Pay Per Click) คือ?)
2. Display Network หรือที่เรียกว่า GDN (Google Display Network)
เป็นโฆษณาที่ปรากฏบนเว็บไซต์อื่นๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google โดยปรากฏในรูปแบบต่างๆ ทั้งตัวอักษร แบนเนอร์ ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้โฆษณาปรากฏได้ ค่าโฆษณามีทั้งแบบ คิดตามยอดคลิก (CPC) กับคิดตามยอดวิว (vCPM) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ GDN (Google Display Network) คือ?)
ข้อดีของการทำ Google Ads
• สร้าง Brand Awareness ทำให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น และไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก เนื่องจากคนที่เห็นโฆษณาไม่ได้คลิกเข้ามาดูทุกคน แต่ก็จะเห็นแบรนด์ของเราผ่านตานั่นเอง
• เลือกกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น เพศ อายุ อยู่ในพื้นที่ใด ทำให้โฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น
• เจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น คนที่เห็น Google Ads คือคนที่ตั้งใจค้นหา Keyword หรือเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์ของเราอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่กำลังสนใจสินค้าหรือบริการนั้นๆ อยู่ ทำให้เพิ่มโอกาสขายได้มากกว่าการโฆษณาตามโทรทัศน์ วิทยุ ที่กลุ่มผู้รับสารกว้างเกินไป
• กำหนดงบประมาณได้ ไม่บานปลาย เพราะสามารถกำหนดงบที่ต้องการทำ Google Ads เป็นรายวันได้ และยังสามารถปรับเพิ่มลดได้ตามต้องการ
• สามารถวัดผลได้ การทำ Google Ads สามารถดาวน์โหลดหรือดูรายงานผลจากเอเจนซี่ที่รับทำ Google Ads ได้ รวมทั้งการเชื่อมกับเครื่องมือฟรีอย่าง Google Analytics ในการวัดประสิทธิภาพของเว็บไซต์ ช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น
4.3 SMM (Social Media Marketing)
SMM ย่อมาจาก Social Media Marketing คือการทำตลาดบนโซเชียลมีเดีย หรือ สังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียในการหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร และอัพเดตข่าวสารมากขึ้น ซึ่งโซเชียลมีเดียสามารถช่วยโปรโมทเว็บไซต์ของเราได้ด้วย
ข้อดีของการทำ SMM
• ประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ ทำให้คนที่ติดตามแบรนด์หรือร้านค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียรู้จักเว็บไซต์มากขึ้น
• เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เนื่องจากผู้ติดตามโซเชียลมีเดียแต่ละแฟลตฟอร์มก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น อายุ เพศ ความชอบ ถ้าเลือกโปรโมทเว็บไซต์ในโซเชียลมีเดียที่เหมาะกับแบรนด์ ก็จะมีคนเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น
สำหรับมือใหม่อยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เมื่อได้ทราบข้อควรรู้เบื้องต้นไปแล้ว คงพอจะมองเห็นภาพรวมคร่าวๆ ว่าควรเริ่มต้นทำเว็บไซต์ของตัวเองจากตรงไหน เลือกรูปแบบเว็บไซต์แบบไหน จ้างใครดี ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ซึ่งถ้าทำเว็บไซต์ด้วยตัวเองก็จะได้แนวทางในการทำ แต่ก็อาจยังต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกอีกมาก ขณะเดียวกันถ้าจ้างทำก็ต้องตรวจสอบประวัติบริษัท ฟรีแลนซ์ หรือเอเจนซี่ที่จะจ้างงานว่ามีรูปแบบการทำงานที่ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ เพื่อให้ได้เว็บไซต์ออกมาสมบูรณ์ ใช้งานได้จริง และถูกใจเรามากที่สุด
Credit : https://aun-thai.co.th